สัญญาณของการสูญเสียการได้ยินในเด็ก

หากคุณคิดว่าลูกของคุณสูญเสียการได้ยิน คุณก็ควรคอยสังเกตสิ่งสำคัญบางอย่าง

เด็กผู้หญิงอายุน้อยที่ใส่ประสาทหูเทียม Cochlear กำลังวาดรูปด้วยสีเทียน

อะไรบ้างที่คุณจะพบในหน้านี้

  • สัญญาณของการสูญเสียการได้ยินในเด็ก
  • หลักเป้าหมายด้านการพูดโดยทั่วไปสำหรับเด็ก

สัญญาณของการสูญเสียการได้ยินมักจะเห็นได้ไม่ชัด นี่คือสิ่งที่ต้องสังเกต รวมถึงแนวทางเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการได้ยินและการพูดในเด็กที่อายุน้อย

ในหลาย ๆ กรณี เราจะทราบถึงการสูญเสียการได้ยินของเด็กผ่านการทดสอบที่ดำเนินการทันทีหลังคลอด หากเป็นช่วงเวลาอื่น ๆ การระบุถึงภาวะอาจทำได้ยาก

คุณอาจจะไม่ทราบว่าลูกของคุณสูญเสียการได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพวกเขายังไม่เริ่มพูด นี่คือเหตุผลที่ทำไมการเข้าใจสัญญาณและอาการในตอนนี้ถึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ก็เพื่อให้คุณพร้อมที่จะดำเนินการ

สัญญาณที่อาจบ่งชี้ถึงการสูญเสียการได้ยินในทารกหรือเด็กวัยหัดเดิน

  • ไม่ตอบสนองต่อเสียงดัง

  • ไม่มองหาหรือตรวจสอบว่าเสียงมาจากไหน

  • หยุดพูดเสียงอ้อแอ้และไม่ทดลองเลียนเสียง

  • ยังคงพูดเสียงอ้อแอ้แต่ไม่มีการพัฒนาเป็นคำพูดที่เข้าใจได้มากขึ้น

  • ไม่ตอบสนองต่อเสียง แม้ว่าจะถูกอุ้มอยู่ก็ตาม

ช่วงวัยและระยะที่เด็กมักจะเรียนรู้ที่จะฟังและพูด1

การมีข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับหลักเป้าหมายของพัฒนาการด้านการได้ยินและการพูดย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ใช้แนวทางเหล่านี้เพื่อให้เข้าใจความก้าวหน้าในพัฒนาการของลูกของคุณมากขึ้น:

อายุ

การได้ยินและการเข้าใจ

การพูดและภาษา

แรกเกิดถึงสามเดือน

  • สะดุ้งตกใจเมื่อได้ยินเสียงดัง

  • ยิ้มเมื่อมีคนพูดด้วย

  • ดูเหมือนจะจำเสียงพ่อแม่ได้และจะเงียบลงหากกำลังร้องไห้

  • เปลี่ยนพฤติกรรมการดูดเพื่อตอบสนองต่อเสียง

  • ส่งเสียงอูอูในลำคอ

  • ร้องไห้ในลักษณะที่ต่างกันสำหรับความต้องการในเรื่องต่าง ๆ

  • ยิ้มเมื่อเห็นพ่อแม่

4-6 เดือน

  • มองตามทิศทางของเสียง

  • ตอบสนองเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงน้ำเสียง

  • สังเกตเห็นของเล่นที่มีเสียง

  • สนใจเสียงเพลง

  • เสียงอ้อแอ้เริ่มกลายเป็นเสียงที่ฟังดูคล้ายคำพูด

  • ส่งเสียงแสดงถึงความตื่นเต้นและความไม่พอใจ

  • ทำเสียงกลั้วในคอเมื่ออยู่คนเดียวและเมื่อเล่นกับคุณ

7 เดือน - 1 ปี

  • ชอบเล่นเกมส์ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋และเล่นตบแปะ

  • หันไปมองทิศทางของเสียง

  • ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย

  • จำคำศัพท์ของสิ่งที่ใช้บ่อย ๆ ได้ เช่น “ถ้วย” “รองเท้า”

  • การพูดเสียงอ้อแอ้มีทั้งกลุ่มเสียงสั้น ๆ และกลุ่มเสียงแบบยาว เช่น “ไป-ไป”

  • ใช้คำพูดหรือเสียงที่ไม่ใช้เสียงร้องไห้เพื่อเรียกร้องให้คนสนใจ

  • เลียนเสียงพูดแบบต่าง ๆ

  • พูดคำหรือสองคำ (“บายบาย” “พ่อพ่อ” “แม่แม่”) แม้ว่าจะพูดไม่ชัดก็ตาม

1-2 ปี

  • ชี้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เมื่อมีคนถาม

  • ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ได้และเข้าใจคำถามที่ไม่ซับซ้อน

  • ฟังเรื่องเล่า เพลง และกลอนง่าย ๆ ได้

  • ชี้รูปภาพในหนังสือได้เมื่อมีคนบอก

  • พูดคำใหม่ ๆ ได้มากขึ้นทุกเดือน

  • ใช้คำถามที่มีคำเดียวหรือสองคำ (“อยู่ไหน”)

  • ผสมสองคำเข้าด้วยกัน (“ขนมอีก”)

  • ใช้เสียงพยัญชนะหลายอย่างตอนเริ่มต้นคำ

จำไว้ว่า เด็กบางคนที่ได้ยินปกติอาจจะมีพัฒนาการตามเป้าหมายเหล่านี้ช้ากว่าเกณฑ์บ้าง หากคุณมีข้อกังวล คุณควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพของลูกของคุณโดยทันทีที่ทำได้

สัญญาณบ่งชี้บางอย่างของการสูญเสียการได้ยินในเด็กวัยเรียน

  • ไม่ทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น “หยิบรองเท้า” หรือไม่เข้าใจทิศทางง่าย ๆ

  • หงุดหงิดง่ายหรือสื่อสารไม่รู้เรื่อง

  • พัฒนาการช้าในเรื่องทักษะการพูดและการสื่อสาร

  • ต้องอาศัยการอ่านปาก

  • เหนื่อยล้าตอนเลิกเรียนเพราะต้องเพ่งสมาธิกับการทำความเข้าใจคำพูด

สิ่งที่ต้องทำหากคุณคิดว่าลูกของคุณสูญเสียการได้ยิน

ขั้นตอนแรกคือการไปพบแพทย์ของลูกและแจ้งพวกเขาเกี่ยวกับข้อกังวลของคุณ แพทย์อาจจะตรวจหูของลูกและอาจจะแนะนำวิธีการดำเนินการให้

หากเครื่องช่วยฟังแบบปกติไม่ช่วยลูกของคุณ พวกเขาอาจจะได้รับประโยชน์จากวิธีแก้ไขการได้ยินแบบอื่น เช่น ประสาทหูเทียมและประสาทหูเทียมชนิดนำเสียงทางกระดูก

ค้นหาผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ช่วยการได้ยินใกล้บ้านคุณ

ข้อจำกัดความรับผิดชอบ

การรักษาการได้ยินและการใช้อุปกรณ์ช่วยการได้ยิน ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของคุณเท่านั้น อาจได้ผลลัพธ์แตกต่างออกไป และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของคุณจะแนะนำคุณเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้งานเสมอ ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจมีในบางประเทศเท่านั้น กรุณาสอบถามรายละเอียดจากตัวแทนจำหน่าย Cochlear ในพื้นที่ใกล้เคียงสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

สำหรับรายการเครื่องหมายการค้าของ Cochlear ฉบับสมบูรณ์ โปรดไปที่หน้าข้อกำหนดในการใช้งานของเรา

เอกสารอ้างอิง

  1. Speech and Language Developmental Milestones [Internet]. NIDCD. 2018 [cited 13 September 2018]. เข้าถึงได้ที่: https://www.nidcd.nih.gov/health/speech-and-language